วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สารเสพติด

สิ่งเสพติด หรือ ยาเสพติด ในความหมายของ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization or WHO) จะหมายถึงสิ่งที่เสพเข้าไปแล้วจะเกิดความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อ ไปโดยไม่สามารถหยุดเสพได้ และจะต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่อร่างกายและจิตใจขึ้น
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พุทธศักราช 2522 ที่ใช้ในปัจจุบันได้กำหนดความหมายสิ่งเสพติดให้โทษดังนี้ สิ่งเสพติดให้โทษ หมายถึง "สารเคมีหรือวัตถุชนิดใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใดๆ แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจใน ลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มปริมาณการเสพขึ้นเรื่อยๆ มีอาการขาดยาเมื่อไม่ได้เสพ มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุ่นแรงอยู่ตลอดเวลา และทำให้สุขภาพทรุดโทรมลง กับให้รวมตลอดถึงพืช หรือส่วนของพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยา เสพติดให้โทษ และสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ไม่หมายความถึงยาสามัญประจำบ้านบางตำรับ ตามกฎหมายว่าด้วยยาที่มียาเสพติดให้โทษผสมอยู่"
ปัจจุบันนี้สิ่งเสพติดนับว่าเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ เพราะสิ่งเสพติดเป็นบ่อเกิดของปัญหาอื่นๆ หลายด้าน นับตั้งแต่ ตัวผู้เสพเองซึ่งจะเกิดความทุกข์ ลำบากทั้งกายและใจ และเมื่อหาเงินซื้อยาไม่ได้ก็อาจจะก่อให้เกิดอาชญากรรมต่างๆ สร้างความเดือดร้อนให้พ่อแม่พี่น้อง และสังคม ต้องสูญเสีย เงินทอง เสียเวลาทำมาหากิน ประเทศชาติต้องสูญเสียแรงงานและสูญเสียเงินงบประมาณในการปราบปรามและรักษา ผู้ติดสิ่งเสพติด และเหตุผลที่ทำให้ สิ่งเสพติดเป็นปัญหาสำคัญของประเทศอีกข้อหนึ่งคือ ปัจจุบันมีผู้ติดสิ่งเสพติดเพิ่มมากขึ้นทั้งนี้ยังไม่รวมถึงจำนวนผู้ติดบุหรี่ สุรา ชา กาแฟ

ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาต้านยาเสพติด

ความรู้เกี่ยวกับสารกล่อมสิ่งเสพติดและการป้องกัน

สิ่งเสพติด หมายถึง สารเคมี หรือสารใดก็ตาม ซึ่งเมื่อบุคคลเสพ หรือรับเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าโดยการฉีด การสูบ การกิน การดม หรือวิธีอื่น ติดต่อกัน เป็นเวลานาน หรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วจะก่อให้เกิดเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสื่อมโทรมขึ้นแก่บุคคลผู้เสพ และแก่สังคมด้วย ทั้งจะต้องทำให้ ผู้เสพแสดงออกซึ่งลักษณะ ดังนี้

ผู้เสพมีความต้องการอย่างแรงกล้า ที่จะเสพยาชนิดนั้น ๆ ต่อเนื่องกันไป และต้องแสวงหายาชนิดนั้น ๆ มาเสพให้ได้ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม
ผู้เสพจะต้องเพิ่มปริมาณของยาที่เคยใช้ให้มากขึ้นทุกระยะ
ผู้เสพจะมีความปรารถนาอยากเสพยาชนิดนั้น ๆ อย่างรุนแรง ระงับไม่ได้ คือ มีการติดและอยากยาทั้งทาง ด้านร่างกายและจิตใจ

ประเภทของสารเสพติด

จำแนกตามการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท แบ่งเป็น 4 ประเภท
  1. ประเภทกดประสาท ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ยานอนหลับ ยาระงับประสาท ยากล่อมประสาท เครื่องดื่มมึนเมา บาร์บิทูเรต ทุกชนิด รวมทั้ง สารระเหย เช่น ทินเนอร์ แล็กเกอร์ น้ำมันเบนซิน กาวเป็นต้น มักพบว่าผู้เสพติดมี ร่างกายซูบซีด ผอมเหลือง อ่อนเพลีย ฟุ้งซ่าน อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
  2. ประเภทกระตุ้นประสาท ได้แก่ยาบ้า ยาไอซ์ ยาอี กระท่อม โคเคน เครื่องดื่มคาเฟอีน มักพบว่าผู้เสพติด จะมีอาการ หงุดหงิด กระวนกระวาย จิตสับสน หวาดระแวง บางครั้งมีอาการคลุ้มคลั่ง หรือทำในสิ่งที่คนปกติ ไม่กล้าทำ เช่น ทำร้ายตนเอง หรือฆ่าผู้อื่น เป็นต้น
  3. ประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอลเอสดี เห็ดขี้ควาย ดี.เอ็ม.ที.และ ยาเค เป็นต้น ผู้เสพติดจะมีอาการประสาทหลอน ฝันเฟื่อง หูแว่ว ได้ยินเสียงประหลาดหรือเห็นภาพหลอนที่น่าเกลียดน่ากลัว ควบคุมตนเองไม่ได้ ในที่สุดมักป่วยเป็นโรคจิต
  4. ประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน คือทั้งกระตุ้นกดและหลอนประสาทร่วมกัน ผู้เสพติดมักมี อาการหวาดระแวง ความคิดสับสน เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ควบคุมตนเองไม่ได้และป่วยเป็นโรคจิตได้แก่ กัญชา
จำแนกตามแหล่งที่มา
  1. จากธรรมชาติ เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน กระท่อม กัญชา ฯลฯ
  2. จากการสังเคราะห์ เช่น เฮโรอีน แอมเฟตามีน ยาอี เอ็คตาซี ฯลฯ
จำแนกตามกฎหมาย
  1. พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เช่น แอมเฟตามีน เฮโรอีน LSD ยาอี ฯลฯ
  2. พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตใจและประสาท พ.ศ. 2518 เช่น อีเฟดรีน

สาเหตุของการติดสารเสพติด

การติดยาเสพติดอาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจาก
  • ความอยากรู้อยากลอง ด้วยความคึกคะนอง เป็นส่วนใหญ่
  • เพื่อนชวน หรือต้องการให้เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเพื่อน
  • มีความเชื่อในทางที่ผิด เช่น เชื่อว่ายาเสพติดบางชนิด อาจช่วยให้สบายใจ ลืมความทุกข์ หรือช่วยให้ทำงานได้มากๆ
  • ขาดความระมัดระวังในการใช้ยา เพราะคุณสมบัติของยา บางชนิดอาจทำให้ผู้ใช้ยาเกิดการเสพติดได้โดยไม่รู้ตัว หากใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยขาดการแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกร
  • สภาพแวดล้อม ถิ่นที่อยู่อาศัย มีการค้ายาเสพติด หรือมี ผู้ติดยาเสพติด
  • ถูกหลอกให้ใช้ยาเสพติดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
  • เพื่อหนีปัญหา เมื่อมีปัญหาแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับตัวเองได้
  • อาจติดจากการเล่นการพนัน หรือ เกม

การสังเกตผู้ติดสารเสพติด

ยาเสพติดเมื่อเกิดการเสพติดแล้ว จะมีผลกระทบต่อร่างกายและ จิตใจ ซึ่งทำให้ลักษณะและความประพฤติของผู้เสพเปลี่ยนไป จากเดิมที่อาจสังเกตพบได้ คือ
  • ร่างกายทรุดโทรม ซูบผอม
  • อารมณ์ฉุนเฉียว หรือเงียบขรึมผิดปกติ จึงมักพบผู้เสพติดชอบทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายผู้อื่นหรือในทางกลับกัน บางคนอาจชอบแยกตัว อยู่คนเดียวและหนีออกจากพรรคพวกเพื่อนฝูง
  • ถ้าผู้เสพเป็นนักเรียน มักพบว่า ผลการเรียนแย่ลง ถ้าเป็นคน ทำงาน มักพบว่าประสิทธิภาพในการทำงานลดลงหรือไม่ยอมทำงานเลย
  • ใส่เสื้อแขนยาวตลอดเวลา เพื่อปกปิดรอยเข็มที่ฉีดยาตรงท้องแขนด้านใน หรือรอยกรีดตรงต้นแขนด้านใน
  • ติดต่อกับเพื่อนแปลกๆใหม่ๆซึ่งมีพฤติกรรมผิดปกติ
  • ขอเงินจากผู้ปกครองเพิ่ม หรือยืมเงินจากเพื่อนฝูงเสมอเพื่อนำไปซื้อยาเสพติด
  • ขโมย ปล้น ฉกชิง วิ่งราว เพื่อหาเงินไปซื้อยาเสพติด
  • ผู้ติดยาเสพติดบางชนิด เช่น เฮโรอีน จะมีอาการอยากยาบางคนจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นลงแดง
อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวข้างต้น ไม่จำเป็นต้องเป็นผลมาจากการติดยาเสพติดเสมอไป อาจเกิดจากความผิดปกติในเรื่องอื่นก็ได้ เมื่อสงสัยว่า ผู้ใด ติดยาเสพติด จึงควรใช้การซักถาม อย่างตรงไปตรงมา ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ ผู้ที่ติดยาส่วนใหญ่ รู้ว่าการใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องไม่ดี หลายรายเคยมีความคิดที่จะเลิกแต่ทำไม่สำเร็จ การถามด้วยท่าทีเป็นมิตรจึง เป็นการช่วยให้ผู้เสพได้พูด ตามความจริง คำถามที่ใช้ไม่ควร ถามว่าติดหรือไม่ แต่ควรถามพฤติกรรมการใ ช้ อาทิถามว่าเคยใช้หรือไม่ ครั้งสุดท้ายที่ใช้เมื่อไหร่ ฯลฯ .


ป้องกันสารเสพติด

  1. ป้องกันตนเอง ไม่ทดลองยาเสพติดทุกชนิด และพยายามปลีกตัวออกห่างจากบุคคลหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ถ้ามีปัญหาหรือไม่สบายใจ อย่าเก็บไว้คนเดียว ควรปรึกษาพ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น อ่านหนังสือ เล่นกีฬาหรือทำงานอดิเรกต่าง ๆ ตามความสนใจและความถนัด ระมัดระวังในการใช้ยาต่าง ๆ และศึกษาให้เข้าใจถึงโทษภัยของยาเสพติด
  2. ป้องกันครอบครัว ควรสอดส่องดูแลเด็ก และบุคคลในครอบครัวอย่าให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อบรมสั่งสอนให้รู้ถึงโทษภัยของยาเสพติด ดูแลเรื่องการคบเพื่อน คอยส่งเสริมให้เขารู้จักการใช้เวลาในทางที่เป็นประโยชน์ เช่น การทำงานบ้าน เล่นกีฬา ฯลฯ เพื่อป้องกันมิให้เด็กหันเหไปสนใจในยาเสพติด สิ่งสำคัญก็คือทุกคนในครอบครัวควรสร้างความรัก ความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
  3. ป้องกันชุมชน หากพบผู้ติดยาเสพติดควรช่วยเหลือแนะนำให้เข้ารับการบำบัดรักษาโดยเร็ว โดยกฎหมายจะยกเว้นโทษให้ผู้ที่สมัครเข้าขอรับการบำบัดรักษาอาการติดยาเสพติด ก่อนที่ความผิดจะปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ และเมื่อรู้ว่าใครกระทำผิดฐานนำเข้าส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.)




ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกันยาเสพติด

ผลกระทบจากสารเสพติด

การสูญเสียด้านบุคลิกภาพและจิตใจ
เยาวชนย่อมมีบุคลิกภาพที่กำลังเจริญเติบโตมีการสร้างประสบการณ์ต่างๆ และหัดวิธีการและชั้นเชิงในการผจญปัญหาหรือกระทำการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาย่อมต้องอาศัยกระบวนการทางจิตหลายประการ เช่น ความอดกลั้น การควบคุมอารมณ์ การแสดงอารมณ์ตามความเหมาะสม การใช้ความคิดและประมาณการ ตลอดจนการหาวิธีแก้ปัญหาให้เกิดผลดีที่สุด
หากเยาวชนใช้และติดยาเสพติด โดยอาศัยเป็นทางหนีจากความทุกข์ยากหรือปัญหาต่างๆแล้ว บุคลิกภาพของผู้นั้นก็ย่อมหยุดเจริญ แทนที่จะหาทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม กลับหันไปใช้ยาแทน เยาวชนที่ติดยาจึงมีบุคลิกภาพใหม่ที่มีความอดทนน้อย ระแวง และหาความสุขจากชีวิตธรรมดาที่ไม่ใช้ยาเสพติดไม่ได้
หากผู้นั้นได้ผ่านการรักษาหลายครั้ง และเลิกได้ไม่นานก็ต้องกลับไปใช้อีก ความเชื่อมั่นในตนเองและความหวังว่าจะเลิกจากยาก็ค่อยๆหายไปทุกที
หากผู้นั้นถูกจับและติดคุกหลายๆ ครั้ง ความกลัวคุกตะรางและการลงโทษต่างๆ ตลอดจนความไม่ดีในสายตาของสังคมก็ค่อยลดเสื่อมและชินชาไป การติดคุกตะราง หรือการถูกลงโทษทางกฎหมายกลายเป็นเรื่องเล็ก ค่านิยมของเขาก็เปลี่ยนไป ความดีกับความชั่;ตามแนวคิดปกติก็เลือนไป ความสุขที่เกิดจากการกระทำความดีก็ถอยไป นับได้ว่าเป็นการเสื่อมสลายของสภาพจิต
เมื่อเยาวชนคนหนึ่งคนใดติดยาเสพติด และมีบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไปจนถึงขั้นนี้ ก็จะเป็นพลเมืองดีไม่ได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตที่เป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นได้ กลับเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาสำหรับตนเองครอบครัวและสังคม จึงนับว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ของชาติ ซึ่งเป็นการสูญเสียที่สำคัญที่สุด

การสูญเสียทางสุขภาพอนามัย
ผู้ที่ติดยาเสพติด อาจเกิดปัญหาทางสุขภาพอนามัย หรือโรคต่างๆได้หลายอย่าง ได้แก่
๑. การใช้ยาเกินขนาด โดยที่การด้านยาเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ผู้ที่พยายามเลิกยาหรือเข้ารับการรักษา ความด้านยาจะลดลง ประกอบกับยาที่ได้จากการลักลอบค้าไม่ได้มีการควบคุมมาตรฐาน ความแรงอาจเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ เพราะมีการเจือปนสารชนิดอื่นเข้าไปก่อนนำออกจำหน่าย ผู้ติดยาจึงอาจใช้ยาเกินขนาดและเป็นอันตรายได้ ยิ่งเป็นการใช้ยาที่ฉีดเข้าหลอดเลือดแล้วยิ่งมีโอกาสเกินขนาดได้มาก
ยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทกลาง เมื่อใช้เกินขนาดจะทำให้ไม่รู้สึกตัวไป การหายใจลดลง และอาจเป็นอันตรายเสียชีวิตได้ ในบางรายอาจเกิดการบวมของปอด ทำให้หายใจหอบและเสมหะเป็นฟองได้
๒. อาการจากการขาดยา อาการถอนยาที่เกิดขึ้นในผู้ติดยาบางคนที่ติดอย่างรุนแรงและสุขภาพไม่ดีอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดยานอนหลับ อาจเกิดอาการไข้สูง ชัก และไม่รู้สึกตัวได้
ในบางรายอาจมีอาการถอนยาที่ปรากฏคล้ายโรคทางกาย เช่น อาการปวดท้องอย่างรุนแรงเหมือนการอุดตันของลำไส้ ทำให้ได้รับการผ่าตัดแก้ไขโดยวินิจฉัยผิดได้
อาการถอนยาที่เกิดในเด็กแรกเกิด เนื่องจากมารดาติดยาเสพติด และใช้ยาในระยะก่อนคลอด จะทำให้เด็กไม่แข็งแรง หายใจน้อย และเสียชีวิตได้ง่าย
๓. พิษจากยาเสพติด ยาเสพติดบางชนิด เช่น แอมเฟตามีน กัญชา โคเคน และแอลเอสดี มีผลทำให้เกิดอาการทางจิตได้ บางรายอาจคลุ้มคลั่ง วิกลจริตไปเป็นระยะเวลานาน
ยาแอมเฟตามีน ทำให้เกิดอาการระแวงอย่างรุนแรง คิดว่าผู้อื่นจะมาทำร้ายจึงอาละวาด และทำร้ายผู้อื่นได้
ในยาเสพติดที่ลักลอบขายกัน อาจมีสารอื่นเจือปน เพื่อให้ได้ปริมาณมากขึ้น เช่น สารหนู และสตริกนิน (strychnine) เป็นต้น ซึ่งเป็นยาพิษทำให้เป็นอันตรายได้
๔. อันตรายจากการฉีดยาที่ไม่สะอาด ผู้ติดยาที่ใช้ยาฉีดเข้าหลอดเลือด หรือเข้ากล้ามเนื้อ มักไม่ได้ทำความสะอาดหลอดฉีดยา ให้ปราศจากเชื้อเสียก่อนน้ำที่ใช้ละลายยาเพื่อฉีดก็ไม่สะอาด จึงอาจฉีดเอาเชื้อโรคต่างๆเข้าไปในร่างกายได้ ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง และเนื้อเยื่อบริเวณที่ฉีด เกิดเป็นฝีหรือเนื้อตายได้อาจลุกลามเกิดการอักเสบของหลอดเลือดหรือโลหิตเป็นพิษได้ ในบางรายเชื้อโรคอาจเข้าไปยังอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ปอด สมอง และกระดูก ทำให้เกิดลิ้นหัวใจอักเสบ และฝีตามอวัยวะต่างๆ
ผู้ที่ฉีดยาหลายคน อาจใช้เข็มฉีดยาร่วมกันทำให้โรคจากคนหนึ่งติดไปยังคนอื่นๆ ได้ เช่น โรคตับอักเสบ เป็นต้น ผู้ติดยามีอัตราการเป็นโรคนี้มากกว่าบุคคลทั่วไป และอาจเกิดการระบาดเป็นโรคทีละหลายๆ คนได้
๕. อันตรายจากการฉีดยาที่ไม่เหมาะสมเข้าร่างกาย ผู้ติดยาอาจใช้ยาเม็ดมาละลายน้ำ ฉีดเข้าหลอดเลือด โดยไม่ทราบว่าในยาเม็ดมีแป้งพวกทัลคัม(talcum) อยู่ด้วย บางทีก็ใช้สำลีกรองน้ำยาก่อนจะใช้ฉีดแป้งและใยสำลีจะเข้าไปติดอยู่ตามหลอดเลือดฝอยของปอด เกิดโรคปอดแข็งทำให้การหายใจลำบากเรื้อรังและไม่มีวิธีรักษา
ในบางกรณียาอาจจะละลายไม่ดี มีเกล็ดหรือผลึกของยาเข้าไปในหลอดเลือด ไปอุดหลอดเลือดต่างๆ เช่น ที่สมอง เกิดเป็นอัมพาตได้
๖. โรคบางชนิดที่พบร่วมกับการติดยาเสพติดผู้ติดยาเสพติด มักมีสุขภาพไม่ดี อาหารไม่เพียงพอและการดูแลสุขภาพอนามัย ตลอดจนการรักษาความสะอาดของร่างกายไม่ดี จึงมีโรคต่างๆเกิดได้มาก เช่น วัณโรคของปอด โรคผิวหนังต่างๆ เป็นต้น
มีผู้รายงานว่า พบโรคบางชนิดร่วมกับการติดยาเสพติด โดยความสัมพันธ์และวิธีการเกิดยังไม่ได้เป็นที่เข้าใจชัดเจน เช่น โรคเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อละลายตัว (rhabdomyolysis) มีอาการปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย ขยับเขยื้อนลำบาก มีการสลายตัวของเซลล์กล้ามเนื้อทำให้มีสารไมโอโกลบินเข้าไปในเลือด และขับถ่ายออกไปในปัสสาวะ (myoglobinemia, myoglobinuria) เห็นเป็นปัสสาวะสีดำ
โรคไตอักเสบ และโรคเส้นประสาทอักเสบ ก็พบได้ในผู้ติดยาเสพติด
ผิวหนังอักเสบเนื่องจากติดเชื้อจากเข็มฉีดยา

การสูญเสียทางเศรษฐกิจ
๑. ค่าใช้จ่ายในการใช้ยา ผู้ติดยาเสพติดย่อมต้องใช้จ่ายเงินในการซื้อยามาใช้ ยิ่งติดมากขึ้น ยิ่งจำเป็นต้องใช้ปริมาณยามาก เพราะเกิดการด้านยาดังได้กล่าวแล้ว โดยเฉลี่ยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ผู้ที่ติดเฮโรอีนใช้เงินซื้อยาราววันละ ๕๕ บาท ซึ่งนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
ผู้ที่สูบฝิ่น หากมีฐานะไม่ค่อยดีนัก ก็จำเป็นต้องขายทรัพย์สมบัติต่างๆ เพื่อใช้ในการสูบฝิ่น จึงทำให้มีฐานะยากจนลง ผู้ที่ยากจนอยู่แล้วและต้องรับจ้างหาเงิน ยิ่งมีความลำบากในการยังชีพ และเลี้ยงดูครอบครัว
หากพิจารณาการสูญเสียทั้งประเทศซึ่งมีผู้ติดยาอยู่มาก ผู้ติดยาเฮโรอีน ๑๐๐,๐๐๐ คน จะใช้ยามีมูลค่าถึงวันละ ๕.๕ ล้านบาท หรือปีละ ๒,๐๐๐ ล้านบาท
๒. การขาดงาน ผู้ติดยาเสพติดบางคน อาจสามารถปรับการใช้ยาได้ และสามารถทำงานได้ตามปกติบางคนใช้ยาขนาดน้อยๆ ในเวลาเช้าและกลางวัน เพื่อไม่ให้เกิดอาการถอนยาและสามารถทำงานได้ แล้วใช้ยามากในตอนเย็นหรือกลางคืน
ผู้ติดยาส่วนใหญ่ เมื่อติดงอมแงมแล้วจะไม่สามารถทำงานได้ เพราะจะมีผลต่อร่างกายและจิตใจที่ขัดกับการทำงาน เมื่อใช้ยามากในเวลากลางวัน ก็มีอาการซึม สะลึมสะลือ ความคิดช้า ทำงานได้ลำบาก เมื่อยาหมดฤทธิ์ก็เกิดอาการถอนยา คือ กระวนกระวาย และปวดเมื่อยตามตัว ฤทธิ์ของยาและอาการถอนยานี้เกิดสลับกันอยู่ทั้งวัน จนไม่สามารถทำงานหรือเรียนหนังสือได้ นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นต้องใช้เวลาในการไปหายามาเพื่อใช้ในคราวต่อไป และหาที่ซุกซ่อนเพื่อใช้ยาสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะรบกวนและขัดขวางการทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพลดลง จนอาจต้องออกจากงาน
๓. ค่าใช้จ่ายในการจัดการแก้ปัญหาของรัฐและเอกชน ทั้งในด้านการปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติด การให้บริการบำบัดรักษา และการป้องกันทำให้สูญเสียงบประมาณและทรัพยากรไปไม่น้อย

การสูญเสียทางสังคม
๑. การเสียชื่อเสียง และฐานะทางสังคมของผู้ติดยา ผู้ติดยาย่อมเป็นที่รังเกียจของสังคม
๒. ปัญหาในครอบครัว การติดยาเสพติดทำให้คนในครอบครัวได้รับความลำบากทั้งด้านจิตใจและฐานะการเงิน มีผลให้เกิดความแตกแยกในครอบครัวได้ดังจะเห็นได้ว่าผู้ติดยามีอัตราการหย่าร้างสูง
๓. ปัญหาอาชญากรรม ผู้ติดยาจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อยามาใช้ ประกอบกับความอยากยารุนแรง ทำให้ขาดการยั้งคิด จึงเกิดอาชญากรรมต่างๆ ขึ้นได้ ในชุมชนใดที่มีผู้ติดยาเสพติดอยู่ โอกาสที่จะเกิดการลักขโมยมีมากขึ้น
นอกจากนี้ ปัญหายาเสพติดอาจเป็นปัญหาทางการเมืองในประเทศ หรือระหว่างประเทศ และมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติได้